วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พบเควซาร์ที่ไกลที่สุด

     นักดาราศาสตร์นานาชาติคณะหนึ่ง ได้พบหลุมดำยักษ์ที่อยู่ไกลจากโลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบกันมา หลุมดำที่พบนี้อยู่รูปของเควซาร์ที่ส่องสว่างจากแก๊สที่ไหลพรั่งพรูลงสู่หลุมดำ

          เควซาร์นี้มีชื่อว่า ยูลาส เจ 1120+0640 (ULAS J1120+0641) ค้นพบโดยโครงการสำรวจอวกาศห้วงลึกอินฟราเรดยูเคิร์ต (UKIRT Infrared Deep Sky Survey) และจากการเสริมทัพโดยกล้องเจมิไนเหนือที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมานาเคอา ฮาวาย 
          แสงจากเควซาร์ที่นักดาราศาสตร์พบในครั้งนี้ เริ่มออกเดินทางจากเควซาร์ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เอกภพมีอายุเพียง 770 ล้านปี หรือเพียง เปอร์เซ็นต์ของอายุปัจจุบันเท่านั้น 
          "เป็นเรื่องเข้าใจได้ยากยิ่งว่า หลุมดำที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์นับพันล้านเท่าขนาดนั้น เกิดขึ้นในช่วงที่เอกภพยังอายุน้อยมาก ๆ ได้อย่างไร" แดเนียล มอร์ล็อก จากวิทยาลัยอิมพีเรียลกล่าว
          อย่างไรก็ตาม นี่ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่นักวิทยาศาสตร์จะได้วัดสภาพของแก๊สที่แสงจากเควซาร์ส่องผ่านจนมาถึงตาเราได้ เควซาร์นี้เป็นวัตถุที่สว่างกว่าวัตถุอื่นที่อยู่ห่างใกล้เคียงกันหลายร้อยเท่า ดังนั้นเควซาร์นี้จึงอาจบอกเราได้ถึงสภาพของเอกภพยุคต้นได้ 
          นักดาราศาสตร์กระหายใคร่รู้สภาพของแก๊สในเอกภพยุคต้นเป็นอย่างมาก เพราะข้อมูลนี้จะบ่งบอกถึงกลไกการกำเนิดดาวฤกษ์และดาราจักรได้ ทฤษฎีกล่าวว่า แก๊สส่วนใหญ่ในเอกภพคือไฮโดรเจน และเกือบทั้งหมดอยู่ในสภาพเป็นไอออน นั่นคือ อิเล็กตรอนเป็นอิสระต่อโปรตอน นั่นคือสภาพในปัจจุบัน แต่เมื่อมองย้อนอดีตกลับไป จะพบกับยุคที่ไฮโดรเจนอยู่ในสภาพเป็นกลาง นั่นคือนิวเคลียสของไฮโดรเจนตรึงอิเล็กตรอนไว้เป็นอะตอมไฮโดรเจนที่สมบูรณ์ สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นก่อนที่ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น หรือเมื่อกว่า 12,000 ล้านปีก่อน 
          การเปลี่ยนจากยุคไฮโดรเจนเป็นกลางมาสู่ยุคไฮโดรเจนไอออน เรียกว่ายุคการแปลงเป็นไอออน ถือเป็นยุคที่สำคัญยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์เอกภพ แสงจากเควซาร์ที่พบนี้แสดงถึงเอกลักษณ์ของไฮโดรเจนเป็นกลางอยู่ด้วย นั่นหมายความว่าเควซาร์นี้เกิดขึ้นก่อนยุคการแปลงเป็นไอออน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สามารถพิสูจน์ทฤษฎีที่เสนอขึ้นมาตั้งแต่ปี 2541 ได้
          "การได้เข้าไปถึงสสารที่อยู่ในรอยต่อสำคัญในประวัติศาสตร์ของเอกภพเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เรานักเอกภพวิทยาได้เพียรพยายามกันมานานแต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก แต่การสำรวจครั้งนี้พาเราก้าวข้ามกำแพงนั้นมาได้แล้ว" ศาสตราจารย์ สตีฟ วาร์เรน หัวหน้าขณะสำรวจนี้กล่าว 
          หลังจากการค้นพบครั้งแรก ได้มีการสำรวจเควซาร์นี้เสริมโดยกล้องเจมิไนเหนือที่อยู่ใกล้กับกล้องยูเคิร์ต และผลที่ได้ก็ยืนยันในข้อมูลที่ได้จากกล้องยูเคิร์ต
          คณะผู้ค้นพบได้วางแผนที่จะเก็บรายละเอียดของเควซาร์ยูลาส เจ 1120+0641 นี้ต่อไป และยังคาดว่าน่าจะพบเควซาร์ที่อยู่ห่างไกลแต่สว่างไสวแบบนี้อีกราว 100 ดวง 

ที่มา รายงานโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)