วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

จันทรุปราคาเต็มดวง : 16 มิถุนายน 2554

            นานเกือบ 4 ปีมาแล้ว ที่ประเทศไทยไม่มีโอกาสได้เห็นจันทรุปราคาเต็มดวง ปีนี้เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงขึ้น 2 ครั้ง ทั้งคู่สามารถเห็นได้ในประเทศไทย โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในเวลากลางดึกของคืนวันพุธที่ 15 มิถุนายน 2554 (เข้าสู่เช้ามืดวันที่ 16 มิถุนายน) ครั้งที่ 2 ในคืนวันที่ 10 ธันวาคม 2554


จันทรุปราคา

           จันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ มาเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน จนทำให้ดวงจันทร์ผ่านเงาของโลกซึ่งทอดยาวออกไปในอวกาศ เงานี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เงามืดและเงามัว เงามัวเป็นส่วนที่จางมาก เรามักสังเกตไม่เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงกับดวงจันทร์ขณะที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามัว ยกเว้นกรณีที่ดวงจันทร์อยู่ในเงาลึกมากพอ (โดยทั่วไปคือเวลาที่เงามัวกินพื้นที่มากกว่า 2 ใน 3 ของผิวด้านสว่างของดวงจันทร์)
หากดวงจันทร์ทั้งดวงเคลื่อนผ่านเข้าไปในเงามืด เรียกว่าจันทรุปราคาเต็มดวง เฉลี่ยเกิดขึ้นประมาณ 70 ครั้งต่อศตวรรษ จันทรุปราคาหลายครั้งที่มีเพียงบางส่วนของดวงจันทร์เท่านั้นที่ผ่านเข้าไปในเงามืด เรียกว่าจันทรุปราคาบางส่วน เฉลี่ยเกิดขึ้นประมาณ 84 ครั้งต่อศตวรรษ (สถิติในช่วง 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง ค.ศ. 3000) สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งบนพื้นโลกไม่สามารถสังเกตจันทรุปราคาได้ทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าขณะเกิดปรากฏการณ์เป็นเวลากลางคืนในท้องถิ่นนั้น ๆ หรือไม่ เพราะเมื่อเกิดจันทรุปราคาแล้ว เฉพาะซีกโลกด้านกลางคืนเท่านั้นที่สังเกตปรากฏการณ์นี้ได้ แต่นั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เรามีโอกาสเห็นจันทรุปราคาได้บ่อยกว่าสุริยุปราคา ซึ่งสำหรับสุริยุปราคา เขตที่มีโอกาสเห็นสุริยุปราคากินพื้นที่เพียงบางส่วนของผิวโลกเท่านั้น ไม่ใช่ซีกโลกด้านกลางวันทั้งหมด

ลำดับเหตุการณ์

จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้สามารถเตรียมเฝ้ารอสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่คืนวันพุธที่ 15 มิถุนายน ดวงจันทร์เริ่มแตะเงามัวในเวลา 00:25 น. ของวันที่ 16 มิถุนายน แต่เราจะสังเกตไม่พบการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งดวงจันทร์เข้าไปในเงามัวลึกมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะเริ่มสังเกตว่าพื้นผิวดวงจันทร์โดยรวมดูหมองคล้ำลงตั้งแต่เวลาประมาณตี 1 หรือหลังจากนั้นไม่นาน โดยเฉพาะพื้นผิวด้านตะวันออกของดวงจันทร์
จันทรุปราคาบางส่วนเริ่มขึ้นเวลา 01:23 น. เป็นจังหวะที่เริ่มเห็นขอบดวงจันทร์แหว่ง เนื่องจากสัมผัสกับเงามืดของโลก ขณะนั้นดวงจันทร์อยู่สูงบนท้องฟ้าทิศใต้ เยื้องไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ดาวเสาร์ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาวใกล้จะตกลับขอบฟ้าหรือตกลับขอบฟ้าไปแล้วสำหรับบางพื้นที่ เมื่อเวลาผ่านไป ดวงจันทร์จะเข้าไปในเงามืดลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ เวลาเกือบตี 2 จะเห็นดวงจันทร์ถูกบังครึ่งดวง จากนั้นเริ่มบังหมดทั้งดวงในเวลา 02:22 น. ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์ถูกเงาโลกบดบังหมดทั้งดวง แต่ดวงจันทร์ก็ไม่ได้มืดมิด เราสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีสีน้ำตาล ส้ม หรือแดง และอาจมีสีฟ้าปะปนอยู่ได้เล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะในบรรยากาศโลกตรงบริเวณรอยต่อระหว่างด้านกลางวันกับกลางคืนของโลก แสงอาทิตย์หักเหและกระเจิงขณะเดินทางผ่านบรรยากาศโลก เป็นสาเหตุที่ทำให้ดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงไม่มืดสนิท

ภาพ - Akira Fujii


          เวลา 03:13 น. ดวงจันทร์เข้าใกล้ศูนย์กลางเงาโลกมากที่สุด คาดหมายได้ว่าเป็นเวลาที่ดวงจันทร์มืดคล้ำที่สุด (หากท้องฟ้าเปิดตลอดปรากฏการณ์) จากนั้นเวลา 04:03 น. เป็นเวลาที่จันทรุปราคาเต็มดวงสิ้นสุดลง รวมแล้วเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงยาวนานถึง 1 ชั่วโมง 40 นาที ขณะสิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้หลังจากนี้ เหตุการณ์จะกลับกันกับช่วงแรก ดวงจันทร์ค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลกพร้อมกับเคลื่อนต่ำลงใกล้ขอบฟ้ามากขึ้น สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 05:02 น. เป็นจังหวะที่ดวงจันทร์กลับมาสว่างเต็มดวง ขณะนั้นดวงจันทร์อยู่ต่ำมาก ที่กรุงเทพฯ ท้องฟ้าเริ่มสว่างขึ้นแล้ว หันหน้าไปทางทิศตะวันออกจะเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่สูงเกือบ 40° ดาวอังคารมีมุมเงยราว ๆ 15° มีกระจุกดาวลูกไก่อยู่ทางซ้ายมือของดาวอังคาร ส่วนดาวศุกร์อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าดวงจันทร์ยังอยู่ในเงามัวของโลกต่อไปจนถึงเวลา 06:01 น. ซึ่งเป็นเวลา 1 นาที หลังจากดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าที่กรุงเทพฯ ส่วนดวงอาทิตย์เริ่มโผล่ขึ้นมาเหนือขอบฟ้าตั้งแต่เวลา 05:50 น. (ดูเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงจันทร์ตก สำหรับอำเภอเมืองของทุกจังหวัด)

ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง

            ช่วงที่เกิดจันทรุปราคา ดวงจันทร์อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู ตรงกลางระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับกลุ่มดาวคนยิงธนู หากอยู่ในที่มืด ห่างจากเมืองใหญ่ ไม่มีแสงไฟรบกวนมากนัก และไม่มีเมฆฝนบดบัง จะมีโอกาสเห็นทางช้างเผือกอยู่เบื้องหลังดวงจันทร์ได้ชัดเจน โดยมีกลุ่มดาวแมงป่องอยู่ต่ำกว่าดวงจันทร์ ดาวแอนทาเรสหรือดาวปาริชาตซึ่งมีสีแดง ห่างดวงจันทร์ประมาณ 14° ถัดไปทางซ้ายมือด้านบนคือกลุ่มดาวคนยิงธนู ดาวพฤหัสบดีขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาประมาณตี 3 (ดูตำแหน่งดวงจันทร์และแนวของทางช้างเผือกได้ในแผนที่ท้องฟ้าประจำเดือน)
             ผู้ที่มีกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ สามารถสังเกตได้ว่าขณะเริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง มีดาวฤกษ์ดวงหนึ่งอยู่ใกล้ขอบด้านทิศตะวันออกของดวงจันทร์ ดาวดวงนี้คือดาว 51 คนแบกงู (51 Ophiuchi) โชติมาตร +4.8 ดวงจันทร์จะบังดาวฤกษ์ดวงนี้ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เมื่อสิ้นสุดการบังแล้ว ดาว 51 คนแบกงู ก็จะกลับมาปรากฏที่ขอบอีกด้านหนึ่งของดวงจันทร์ โดยเส้นทางและเวลาจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น
  • กรุงเทพฯ เริ่มบังเวลา 02:24 น. สิ้นสุดการบังเวลา 03:10 น.
  • เชียงใหม่ เริ่มบังเวลา 02:10 น. สิ้นสุดการบังเวลา 03:19 น.
  • นครราชสีมา เริ่มบังเวลา 02:27 น. สิ้นสุดการบังเวลา 03:14 น.
  • ประจวบคีรีขันธ์ เริ่มบังเวลา 02:29 น. สิ้นสุดการบังเวลา 03:03 น.
  • ระยอง เริ่มบังเวลา 02:31 น. สิ้นสุดการบังเวลา 03:06 น.
  • อุบลราชธานี เริ่มบังเวลา 02:36 น. สิ้นสุดการบังเวลา 03:14 น.
ภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปไม่เห็นการบังนี้ โดยดาว 51 คนแบกงู จะเฉียดขอบทางด้านทิศใต้ของดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 02:44 น. นอกจากนี้ บริเวณตอนล่างของจังหวัดตราดจะเห็นการบังในเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่นาที หรือไม่ก็เฉียดขอบดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 02:51 น.
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและคำนวณเวลา ณ สถานที่ใด ๆ ในประเทศไทยได้ที่ : ดวงจันทร์บังดาว 51 คนแบกงู

สีและความสว่างของดวงจันทร์

           สีและความสว่างของดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงในแต่ละครั้งมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระยะห่างระหว่างดวงจันทร์กับศูนย์กลางเงา ปริมาณเมฆและฝุ่นละอองในบรรยากาศโลกตรงบริเวณรอยต่อระหว่างด้านกลางวันกับด้านกลางคืนของโลก
          เราสามารถบอกความสว่างและสีของดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงได้ด้วยมาตราดังชง (Danjon scale) โดยทำการสังเกตดวงจันทร์ด้วยตาเปล่า มาตรานี้ตั้งชื่อตาม อองเดร ดังชง (André-Louis Danjon) นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่เป็นผู้ริเริ่ม เรียกย่อ ๆ ว่าค่าแอล (L) มีค่าจาก 0 ถึง 4 ดังตาราง โดยสามารถประมาณค่าเป็นทศนิยมได้

L ความสว่างและสีของดวงจันทร์
0ดวงจันทร์มืดมาก เกือบมองไม่เห็น
1ดวงจันทร์มืด มีสีเทาหรือน้ำตาล มองเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวได้ยาก
2ดวงจันทร์มีสีแดงเข้ม หรือสีสนิมเหล็ก บริเวณใกล้ใจกลางมืดมาก แต่ขอบดวงจันทร์สว่าง
3ดวงจันทร์มีสีแดงอิฐ ขอบเงามืดมีสีเหลืองหรือสว่าง
4ดวงจันทร์มีสีทองแดงหรือสีส้ม ดวงจันทร์สว่างมาก ขอบเงามืดมีสีฟ้าและสว่างมาก
            ถ้าจะให้ได้ข้อมูลละเอียดที่สุด อาจทำการประมาณค่าแอลทุก ๆ 10-20 นาที นับตั้งแต่ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดทั้งดวง ทั้งนี้การประมาณค่าแอลมีโอกาสผิดพลาดได้ หากขณะนั้นมีเมฆหรือหมอกควันบดบังดวงจันทร์ ซึ่งจะทำให้ดวงจันทร์ดูมืดสลัวกว่าความเป็นจริง

ที่มา รายงานโดย วรเชษฐ์ บุญปลอด